ปิดตู้บรรทุกสินค้า(ทุเรียน) ของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดยะลา
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นางบุญพา ชูผอม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากด่านตรวจพืชเบตง ร่วมปิดตู้บรรทุกสินค้า(ทุเรียน) ของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดยะลา ก่อนส่งไปยังด่านปลายทางจังหวัดนครพนมเพื่อส่งออกไปประเทศจีน โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาและด่านตรวจพืช
เบตงดำเนินการมาตรการกรอง 4 ชั้นอย่างเคร่งครัดในพื้นที่เสี่ยงการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เน้นย้ำการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของทุเรียนประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย
มาตราการกรองชั้นที่ 1
เกษตรกรต้องตัดทุเรียนที่แก่เต็มที่ และบ่มเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อนำผลผลิตที่มีคุณภาพสมบูรณ์ส่งขายโรงคัดบรรจุ
มาตราการกรองชั้นที่ 2
2.1.โรงคัดบรรจุทำการคัดแยกทุเรียนที่ไม่ไม่ได้คุณภาพออก
2.2.ป้ายขั้วทุเรียน
ทุเรียนที่สุกแก่ 32-35% ใช้เอทิฟอน 50 % จากปริมาณที่ใช้เดิม
ทุเรียนที่สุกแก่ > 35% ใช้เอทิฟอน 20-30% จากปริมาณที่ใช้เดิม
2.3.บ่มแยกกองตามแหล่งที่มาเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วทำการคัดแยกทุเรียนใหม่อีกครั้ง
2.4. บรรจุทุเรียนลงกล่องหรือภาชนะ แล้วนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48-72 ชั่วโมง
2.5. ตรวจสอบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทุกกล่อง
2.6. ทำการคัดทุเรียนที่มีคุณภาพบรรจุลงกล่อง
2.7. ทำการแจ้งปิดตู้ เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC)
มาตราการกรองชั้นที่ 3
เพิ่มการสุ่มตรวจตัวอย่างเพื่อประกอบการรับรองสุขอนามัยพืช จากเดิม 3% เป็น 5% ณ โรงคัดบรรจุ โดยต้อง
สุ่มตรวจให้ถึงด้านหน้าตู้สินค้า
มาตราการกรองชั้นที่ 4
เพิ่มขั้นตอนการสุ่มตรวจศัตรูพืชอีกครั้ง ณ ด่านตรวจพืชปลายทางที่ออกใบ PC
และมีมาตรการการผลิตทุเรียนคุณภาพของจังหวัดยะลาประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ร่วมจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ จดหมายข่าวให้กับผู้นำชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดยะลา เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ปัญหาทุเรียนอ่อน และปัญหาการขาดแคลน และสวมสิทธิ์ใบ GAP ซึ่งหากพบปัญหาดังกล่าว จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาดำเนินการจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ และผลเสียและการป้องกันการสวมสิทธิ์ใบ GAP
ขั้นตอนที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียน วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนทั้งแบบวิธีผสมผสาน และการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มเกษตรกร วิธีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในระยะที่เหมาะสมหลักสูตรนักคัดนักตัดในระดับแปลงเกษตรกรและโรงคัดบรรจุ
ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแปลงต้นแบบในการใช้วิธีการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีผสมผสานให้แพร่หลายมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบให้เกษตรกรในชุมชนนั้นๆ
ขั้นตอนที่ 4 ทดสอบนวัตกรรมการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยอากาศยานไร้คนขับ(โดรน)ที่เหมาะสม ในพื้นที่ทุเรียนต้นสูง โดยมีการทดสอบทางกายภาพของอากาศยานไร้คนขับในทุเรียนต้นสูง(ความเร็วในการบินที่เหมาะสม ความสูงเหนือทรงพุ่ม อัตราการพ่นหรือปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ และขนาดละอองสาร) การทดสอบทางด้านประสิทธิภาพในการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ (ทำการพ่นสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงBacillus thuringiensis และสารเคมีที่แนะนำ) เพื่อให้ได้วิธีการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และพฤติกรรมของเกษตรกรจังหวัดยะลา
ขั้นตอนที่ 5 การขยายผลนวัตกรรมการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และการติดตามผลการดำเนินงานแปลงต้นแบบและแปลงขยายผล