คณะทำงานชุดปฏิบัติการ หน่วยเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด จังหวัดยะลา
ผู้ว่าฯยะลา ตรวจล้ง ตลาดรับซื้อทุเรียนที่ยะลา เผย มีมาตรการคัดกรองเข้ม 4 ชั้นตอน ก่อนปิดตู้ส่งจีน ป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
วันที่ 23 ก.ค.67 เวลา 20.30 น. นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่คณะทำงานชุดปฏิบัติการ หน่วยเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด จังหวัดยะลา ได้ลงพื้นที่ตรวจแผง ล้ง รถเร่ รับซื้อและจำหน่ายทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่ถนนสาย 15 แยกมลายูบางกอก และตลาด อบจ. เพื่อให้กำลังใจผู้ประกอบการ รวมทั้งและตรวจกระบวนการรับซื้อทุเรียนคุณภาพในพื้นที่ ทั้งนี้จากกรณี กระแสข่าว ทุเรียนจากยะลาถูกประเทศจีนตีกลับ เนื่องจากพบหนอนในตู้ ขอยืนยัน ผลผลิตในพื้นที่จังหวัดยะลาในตอนนี้ เพิ่งเข้าสู่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งในวันนี้ 23 ก.ค.2567 เป็นการตัดมีดแรกของทุเรียนหมอนทอง โดยเฉลี่ยประมาณ 120 วัน นับจากวันที่ออกดอก เพราะฉะนั้น จากกรณีที่เกิดขึ้น อยากฝากถึงสื่อมวลชน ที่นำเสนอขอให้พิจารณา รวมทั้งสอบถามหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความถูกต้องของข้อมูล
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สำหรับในพื้นที่จังหวัดยะลา การผลิตทุเรียนจังหวัดยะลา ในปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 105,401 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.53 อำเภอที่มีการปลูกเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อำเภอเบตง เนื่องจากราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปลูกทุเรียนทดแทน ยางพารา ลองกอง เงาะ มังคุด ในส่วนของเนื้อที่ให้ผลผลิต จำนวน 73,382 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 9.87 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตมากกว่า 73,358 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,000 กก.ไร่ โดยสถานการณ์การผลิตทุเรียนปัจจุบัน คาดว่าเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วประมาณ ร้อยละ 11.7 หรือประมาณ 8,592 ตัน ส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนเบญจพรรณ ซึ่งจากการคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัด คาดว่าผลผลิตทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนสิงหาคม นี้ ซึ่งการซื้อขายทุเรียนมีบุคคลจากภายนอกเข้ามาประกอบการค้าในพื้นที่และเข้ามาเกี่ยวข้องในวงจรการซื้อขายทุเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยาก จังหวัดยะลาจึงออกประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง ขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก และผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ ไม่จำหน่าย ทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) หรือกระทำการโดยวิธีหนึ่งวิธีใดที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นทุเรียนคุณภาพ เพื่อช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ทุเรียนคุณภาพตลอดจนรักษาชื่อเสียงของจังหวัดยะลา ประกาศจังหวัดยะลา เรื่อง มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ประกาศจังหวัดยะลา เรื่องขึ้นทะเบียนแผง รถรั้ว/รถเร่ มือคัด มือเคาะ ทุเรียน และมาตรการกรอง 4 ชั้น ของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา คือ
มาตรการกรองชั้นที่ 1 การคัดทุเรียนคุณภาพจากสวน ให้เจ้าของสวนตัดผลทุเรียนแก่จัดบ่มไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อนำผลผลิตที่มีคุณภาพสมบูรณ์ส่งขายโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องเป็นการดำเนินการบริหารจัดการศัตรูพืช ตั้งแต่ในสวนทุเรียน จนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว
มาตรการกรองชั้นที่ 2 การบ่มทุเรียนที่โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องเพิ่มขั้นตอนในการคัดทุเรียนที่มีหนอนติดปนเปื้อนมา โดยโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา 48 ชั่วโมง และกำจัดหนอน พร้อมให้มีผู้รับผิดชอบประจำโรงคัดบรรจุ สุ่มตรวจทุเรียนเพื่อหาศัตรูพืชโดยละเอียด
มาตรการกรองชั้นที่ 3 การเพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่มตรวจ เพื่อประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ณ โรงคัดบรรจุ จากเดิม 3% เพิ่มเป็น 5% โดยสุ่มตรวจให้ถึงหน้าตู้
มาตรการกรองขั้นที่ 4 การเพิ่มขั้นตอนการสุ่มตรวจและกำหนดแนวทางการออกใบรับรองสุขอนามัย ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง
ทั้งนี้ การนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อเป็นการจัดระบบการซื้อขายให้อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถตรวจสอบได้ ให้มีการซื้อขายกันอย่างตรงไปตรงมา ผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ จึงขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในมาตรการที่จังหวัดยะลาประกาศใช้ เพื่อให้การซื้อขายทุเรียนจังหวัดยะลาเป็นที่ยอมรับ ของผู้ประกอบการและผู้บริโภค