ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ (น้อย อาจารยางกูร)
ค.ศ. ๑๘๒๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕) พระยาศรีสุนทรโวหาร เดิมชื่อน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ ที่บ้านคลองโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรของนายทองดี นางบัว เมื่ออายุ ๖ – ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือไทยกับพระพี่ชายคนโตซึ่งจำพรรษาที่วัดโสธร เมื่ออายุ ๑๓ ปี ไปอยู่กับสามเณรทัด (น้าชาย) ที่วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร)
ค.ศ. ๑๘๓๖ (พ.ศ. ๒๓๗๙) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๔ ปี
ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) เมื่ออายุ ๒๑ ปี อุปสมบทและสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคขณะ เมื่อบวชได้ ๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดทั้งพระอารามและสร้างภูเขาทอง ปัจจุบันยังมีกุฏิมหาน้อยซึ่งทางวัดได้อนุรักษ์ไว้ ต่อมาเมื่อบวชได้ ๖ พรรษา สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
ค.ศ. ๑๘๕๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ (ชั้นสามัญ) ที่พระประสิทธิสุตคุณ
ค.ศ. ๑๘๕๓ (พ.ศ. ๒๓๙๖) ลาสิกขาถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเวรศักดิ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ค.ศ. ๑๘๕๔ (พ.ศ. ๒๓๙๗) เป็นขุนประสิทธิอักษรสาตร ผู้ช่วยเจ้ากรมพระอาลักษณ์ และว่าที่ เจ้ากรมอักษรพิมพการ ได้ตามเสด็จเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาดังที่ทรงคำนวณเวลาและสถานที่ไว้ล่วงหน้าที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เลื่อนเป็นขุนสารประเสริฐ
ค.ศ. ๑๘๖๙ (พ.ศ. ๒๔๑๒) เป็นผู้ขนานนามช้างเผือกและนิพนธ์ฉันท์กล่อมช้างพระเสวตรวรวรรณช้างแรกที่เข้าสู่พระบารมี และอีกทุกช้างในขณะท่านมีชีวิตอยู่ ๑๐ ช้าง ด้วยฉันท์ ๘ บท
ค.ศ. ๑๘๖๙ (พ.ศ. ๒๔๑๒) นิพนธ์แบบเรียนภาษาไทย คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกรอักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์
ค.ศ. ๑๘๗๐ (พ.ศ. ๒๔๑๓) เป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็ก
ค.ศ. ๑๘๗๑ (พ.ศ. ๒๔๑๔) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนหลวงและเป็นครูสอนหนังสือไทย
ค.ศ ๑๘๗๓ (พ.ศ. ๒๔๑๖) นิพนธ์หนังสือไวพจน์พิจารณ์ และได้รวมเป็นชุดแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ และหนังสืออื่นอีกหลายเล่ม
ค.ศ. ๑๘๗๕ (พ.ศ. ๒๔๑๘) เป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์
ค.ศ. ๑๘๗๙ (พ.ศ. ๒๔๒๒) เป็นกรรมการ ๑ ใน ๘ คน ควบคุมจัดการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ “โรงเรียนนันทอุทยาน” และเป็นแม่กองตรวจโคลงและร่วมแต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกบนแผ่นศิลา ติดที่เสาระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อการฉลองพระนครครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕
ค.ศ. ๑๘๘๒ (พ.ศ. ๒๔๒๕) นิพนธ์หนังสือไทยอีกหลายเล่ม ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา เป็นที่หมายว่าเป็นผู้มีความรู้พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีสุนทรโวหารญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ”
ค.ศ. ๑๘๘๓ (พ.ศ. ๒๔๒๖) เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าและพระเจ้าลูกยาเธออีกหลายพระองค์ นอกจากงานที่กล่าวมาแล้วยังมีงานในหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและเลขานุการองคมนตรีสภา กรรมการสอบไล่หนังสือไทยชั้นสูง กรรมการหอพระสมุด วชิรญาณ กรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ท่านมีผลงานนิพนธ์รวม ๓๓ เรื่อง
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) สมรสกับคุณหญิงแย้ม มีบุตรธิดา ๖ คน
ค.ศ. ๑๘๙๑ (พ.ศ. ๒๔๓๔) ท่านป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ สิริอายุ ๖๙ ปี
ค.ศ. ๑๘๙๕ (พ.ศ. ๒๔๓๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วัดสเกษ (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร)
ท่านได้รับคำยกย่องดังนี้
“ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” โดยพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)
“จินตกวีชั้นสูง” โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
”ปราชญ์ภาษาไทย” โดยคนทั่วไปในยุคหลัง
ผลงานนิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
๑. หนังสือแบบเรียนภาษาไทย
๑.๑ หนังสือแบบเรียนหลวง
๑) มูลบทบรรพกิจ (เป็นการสอนเขียนสอนอ่านเบื้องต้นเริ่มจากพยัญชนะ)
๒) วาหนิติ์นิกร (เป็นเรื่องอักษรนำ)
๓) อักษรประโยค (เป็นเรื่องว่าด้วยการควบกล้ำ)
๔) สังโยคพิธาน (เป็นการประมวลคำที่ใช้ในมาตรา แม่ กน กก กด กบ)
๕) ไวพจน์พิจารณ์ (คำพ้องรูป พ้องเสียง)
๖) พิศาลการันต์ (เป็นเรื่องตัวการันต์ต่าง ๆ)
๑.๒ หนังสือเสริมแบบเรียนภาษาไทย
๑) อนันตวิภาค (อธิบายศัพท์ต่าง ๆ มีศัพท์โบราณ เขมร ชวา บาลี แผลง ราชาศัพท์ เป็นต้น)
๒) เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม)
๓) นิติสารสาธก (กล่าวถึงแบบเรียนภาษาไทยของท่าน)
๔) อุไภยพจน์ (คำพ้องรูป พ้องเสียง)
๕) ปกีระณำพจนาดถ์ (คำกลอนสุภาพ ๑๐๑ บท ไม่เรียงกัน อธิบายศัพท์ต่าง ๆ คำพ้องเสียง พ้องรูป)
๖) ไวพจน์ประพันธ์ (คำพ้องรูป พ้องเสียง)
๗) สังโยคพิธานแปล
๘) วิธีสอนหนังสือไทย (ลักษณะวิธีสอนเรียนหนังสือไทย)
๙) พรรณพฤกษา (รวบรวมชื่อพืชพรรณต่าง ๆ พันธุ์มะม่วง พันธุ์ทุเรียน)
๑๐) สัตวาภิธาน (รวบรวมชื่อสัตว์ต่าง ๆ)
๑๑) สยามสาธก (รวมศัพท์ภาษามคธที่ใช้ในภาษาไทย)
๑๒) วรรณสาทิศ (รวมศัพท์ภาษามคธที่ใช้ในภาษาไทย)
๒. ผลงานอื่นและผลงานร่วม
๒.๑ หนังสือประเภทสุภาษิต
๑) วชิรญาณสุภาษิต
๒) โคลงสุภาสิตเจ้านาย
๓) โคลงพิพิธพากย์
๔) โคลงอุภัยพากย์
๕) วรรณพฤติคำฉันท์
๒.๒ หนังสือประเภทวรรณคดี
๑) โคลงภาพรามเกียรติ์
๒) โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
๒.๓ หนังสือประเภทคำประกาศพระราชพิธี
๒.๔ หนังสือประเภทคำฉันท์
๑) คำฉันท์กล่อมช้าง ๘ บท
๒) ฉันทวิภาค เป็นลักษณะกลอนฉันท์ตามวิธีในคัมภีร์วุตโตทัย ที่ต้องใช้คำ คะรุ ละหุ และคะณะ (คะณะแปลว่าหมู่คือรวม คะรุ และ ละหุ เป็นหมู่ ๆ กัน)
๒.๕ หนังสือประเภทลิลิต
– ลิลิตและคาถาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒.๖ บทเสภาเรื่องอาบูหะซัน ตอนที่ ๗
๒.๗ หนังสือประเภทหนังสือศาสนา
๑) มหาสุปัสสีชาดก
๒) บทธรรมเทศน์ ๑ บท
๓) บทนมัสการคุณานุคุณ (ประกอบด้วย บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำนมัสการมาตาปิตุคุณ คำนมัสการอาจริยคุณ คำนมัสการพระมหากษัตริย์ คำนมัสการเหล่าเทวา)
๔) บุจฉาพยากรณ์
๒.๘ เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงแรกของประเทศไทย
“ความสุขสมบัติทั้ง บริวาร
เจริญพละปฏิภาณ ผ่องแผ้ว
จงยืนพระชนม์นาน นับรอบ ร้อยแฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร”
๒.๙ ผลงานร่วมในหนังสือ “คำฤษฎี”
คำฤษฎี เป็นหนังสืออธิบายความหมายศัพท์แบบพจนานุกรม โดยแยกหมวดอักษรอย่างคร่าว ๆ ศัพท์ที่รวบรวมไว้ มีทั้งคำภาษาบาลี คำบาลีแผลงเป็นสันสกฤต คำเขมร ลาว ไทย และคำโบราณจากหนังสือต่าง ๆ สำหรับผู้แต่งร้อยกรองได้ใช้ประโยชน์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมคำศัพท์และอธิบาย ความหมาย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้เพิ่มเติมคำและตรวจแก้ในส่วนที่บกพร่อง
๒.๑๐ หนังสือประเภทโคลงเบ็ดเตล็ดและโคลงเฉลิมพระเกียรติเจ้านาย
– โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์
พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ (น้อย อาจารยางกูร)