กรมวิชาการเกษตร จัดยิ่งใหญ่ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภาคใต้ตอนล่างยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตร เป็นแปลงต้นแบบ “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัย และเพิ่มมูลค่า” ของคุณกิตติ ศิริรัตนบุญชัย
วันที่ 31 มกราคม 2567 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า โดยมีนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และนางประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กล่าวรายงาน ในโอกาสนี้ ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.สุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืชและผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ สวนพริกไทยตรัง ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง หลังพิธีเปิด ประธานในพิธีและคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมนิทรรศการ 7 โมเดล และชมการสาธิตการขยายพันธุ์พริกไทยตรัง
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการคัดสรรเกษตรกรที่มีความรู้ ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ให้แก่เกษตรกร บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ซึ่งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จจากเกษตรกรต้นแบบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ มาขยายผลให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรของตนเอง ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 7 โมเดล การเสวนา “การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” การสาธิตการผลิตขยายพันธุ์พริกไทยตรัง และการสาธิตการผลิตขยายชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร รวมไปถึงการแจกพันธุ์พืช โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยเกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และนักเรียน นักศึกษา จำนวน 400 ราย
“การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรต้นแบบ และเครือข่าย หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในจังหวัดตรัง รวมไปถึงหน่วยงานมหาวิทยาลัย” ในการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเชิงประจักษ์ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ที่ได้สร้างสรรค์ต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง และร่วมขยายผลเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว