ประวัติความเป็นมา

    2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ เห็นว่า “การส่งเสริมการเกษตรเท่าที่เป็นอยู่ยังล่าช้า สมควรรีบเร่งให้รวดเร็วขึ้น”

ปี 2476 : โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้คอหงส์

   ได้ตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้คอหงส์” โดยมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้ดำเนินการ (จากเดิมโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมมีอยู่แห่งเดียวในภาคอีสาน ณ โนนวัด) หลวงสุวรรณ ฯ ได้ซื้อสวนยางพาราจาก“หลวงศุภศัย สโมธาน” ตรง 3 แยกบ้านคอหงส์ เนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวงธรรมการ วันที่ 13 กันยายน 2476 ได้เปิดทำการเรียนการสอนเป็นครั้งแรก โดยมี

  • อาจารย์หลวงสุวรรณฯ เป็นอาจารย์ใหญ่
  • อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นอาจารย์ผู้ช่วย
  • คณะอาจารย์และครูประจำวิชาอีก 7-8 ท่าน

   ไม่นานนักพื้นที่ของโรงเรียน ฯ ประมาณ 1 ใน 3 ได้ถูกกระทรวงศึกษาธิการโอนให้โรงเรียนพลตำรวจภูธรสงขลา ซึ่งปัจจุบันคือ กองพันทหารราบที่ 5 ค่ายเสนาณรงค์.

วันที่ 19 มกราคม2497 : สถานีการยางคอหงส์

   โดยพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบกรมกสิกรรม กองการยางได้เพิ่มแผนกขึ้นอีก 4 แผนก โดยมีสถานีการยางคอหงส์ สถานีการยางจันดี สถานีการยางเขาช่อง สถานีการยางในช่อง

   ระหว่างปี 2497-2507 สถานีการยางคอหงส์ ได้ดำเนินการงานทดลองเกี่ยวกับการกรีดยาง การผลิตยางรูปแบบต่าง ๆ ด้านพืชกรรมก็ทดลองผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ยาง

   สถานีการยางคอหงส์ได้เริ่มต้นศึกษาค้นคว้าเรื่องยางพาราอย่างจริงจัง ได้ขอผู้เชี่ยวชาญ FAO คือ

  1. Mr.William Lloyd ผู้เชี่ยวชาญด้านสวนยาง
  2. Mr.Mellers ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

   ท่านทั้งสองได้ช่วยงานในเบื้องต้นได้มากและได้สนับสนุนส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาและดูงานยางด้านต่างๆในต่างประเทศหลายคน งานค้นคว้าเรื่องยางดำเนินมาเป็นระยะ ๆ จากนั้นมา

วันที่18 มกราคม2508 : ศูนย์วิจัยการยางคอหงส์

   ได้สถาปนาเป็น “ศูนย์วิจัยการยางคอหงส์” มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นสำนักงานกลางของการปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนายาง ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณและการสนับสนุนจาก

  1. รัฐบาลไทย
  2. องค์การสหประชาชาติ (United Nations Special Fund)
  3. สำนักงานกองทุนพิเศษแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program – UNDP)
  4. องค์การอาหารและเกษตร (Food and Agriculture Organization – FAO)
  5. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (เงิน 5%)
  6. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

   ปี 2525 กองการยางได้เปลี่ยนมาเป็นสถาบันวิจัยยาง

   ปี 2526 มีการแบ่งงานภายในกรมวิชาการเกษตร ให้ศูนย์วิจัยยางคอหงส์ เป็นหนึ่งในสามศูนย์ของสถาบันวิจัยยาง

ปี 2527 : ศูนย์วิจัยยางสงขลา

   ปี พ.ศ. 2527 เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยยางสงขลา” อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    ศูนย์วิจัยยางสงขลา เป็นหน่วยงานสังกัดสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบแผนงานวิจัยและพัฒนายาง เช่น การปรับปรุงพันธุ์ยาง การกรีดยาง การอารักขาพืช การเสริมรายได้เจ้าของสวนยางขนาดเล็ก การจัดการดินปุ๋ยและน้ำ การเขตกรรม และการทดสอบและสำรวจด้านการผลิตยาง

ปี 2556 : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา 

ปี พ.ศ. 2556 ได้เปลี่ยนชื่อจาก ศูนย์วิจัยยางสงขลา เป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบงานพัฒนาและวิจัยพืชทั้งหมดภายในจังหวัดสงขลา รวมทั้งงานด้านอารักขาพืช และ งานส่งเสริมด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดสงขลา

2476 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ (โรงเรียนฝึกหัดครูมูล ท่าชะมวง ต.ควนเนียงอ.รัตตภูมิ จ.สงขลา) กระทรวงธรรมการ
13 กันยายน 2476 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคใต้ คอหงส์ กระทรวงธรรมการ
  โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม
  สถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ กรมเกษตรและการประมง กรมกสิกรรม
19 มกราคม 2497 ศูนย์วิจัยการยาง กองการยางกรมวิชาการเกษตร
  ศูนย์วิจัยยางคอหงส์ กองการยาง กรมวิชาการเกษตร
2527 – เม.ย. 2556 ศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตร ฯ
เม.ย.2556 – ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ