25 พฤศจิกายน 2024

งานวิจัยพืชอินทรีย์

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการผลผลิตผักและผลไม้สดอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มาจากผลผลิตอินทรีย์ในตลาดทั่วโลกที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความตระหนักถึงผลของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผลผลิตแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย ศวพ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินงานวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคเหนือตอนบน ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 มีการดำเนินงานวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการผลิตพืชในระบบการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จำนวน 3 โครงการย่อย 8 การทดลอง ประกอบด้วย

  1. โครงการย่อยวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสตรอว์เบอร์รีอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคเหนือตอนบน โดยเป็นการนำปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์จากการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เช่น แหนแดง เชื้อราอาบัสคูล่าไมคอไรซ่า ไตรโคเดอร์มา เชื้อ Bacillus subtillis เชื้อไวรัส NPV เชื้อ Bacillus thuringiensis เชื้อรา Beauveria bassiana และเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม มาปรับใช้ในการศึกษาวัสดุปลูกและการจัดการปุ๋ยที่เหมาะสมต่อการปลูกสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์ในโรงเรือน การจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมสำหรับการผลิตสตรอว์เบอร์รี่อินทรีย์ในแปลงปลูก และการทดสอบการป้องกันกำจัดโรค แมลงและไรศัตรูพืชแบบผสมผสานในการผลิตสตรอว์เบอร์รีอินทรีย์ในแปลงปลูก ทั้งนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีที่จะได้จากผลงานวิจัยนำไปทดสอบในระบบการผลิตของแปลงเกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ต่อไปในปีงบประมาณ 2566
  2. โครงการย่อยการศึกษาการผลิตกระเจี๊ยบแดงอินทรีย์ในภาคเหนือ เป็นการศึกษาการจัดการธาตุอาหาร ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก และปุ๋ยขี้ไก่ และการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยใช้สารชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร เช่น เชื้อไวรัส NPV เชื้อ Bacillus thuringiensis และ เชื้อรา Beauveria bassiana ในการผลิตกระเจี๊ยบแดงอินทรีย์ ทั้งนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีที่จะได้จากผลงานวิจัยนำไปทดสอบในระบบการผลิตของแปลงเกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ต่อไปในปีงบประมาณ 2566
  3. โครงการย่อยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหญ้าหวานอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการศึกษาการจัดการธาตุอาหาร ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยคอก และทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันกําจัดศัตรูพืชในการผลิตหญ้าหวานอินทรีย์โดยใช้สารชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร เช่น เชื้อไวรัส NPV เชื้อ Bacillus thuringiensis และ เชื้อรา Beauveria bassiana ทั้งนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีที่จะได้จากผลงานวิจัยนำไปทดสอบในระบบการผลิตของแปลงเกษตรกรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ต่อไปในปีงบประมาณ 2566