ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่จันทบุรี

ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่

ความเป็นมา

กรมวิชาการเกษตรเป็นองค์กรนำด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตพืช ในโอกาสครบรอบ 36 ปี กรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 – 8 จัดทำศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขึ้น สำนักฯละ 2 แห่ง ให้เป็นแหล่งเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการของกรมวิชาการเกษตรสู่เกษตรกร โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ

วัตถุประสงค์

  1. เป็นตัวอย่างการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  2. เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ เทคโนโลยีการผลิตพืชตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช
  3. เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอนลาดเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 33 เมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีค่าความเป็นกรด ด่าง ประมาณ 5.0 ปริมาณอินทรียวัตถุ 2.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,929 มิลลิเมตรต่อปี

การดำเนินการ

การน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ

ความพอประมาณ

พิจารณานำพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มาจัดทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย สระน้ำ : นาข้าว : พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น : ที่อยู่อาศัย

ความมีเหตุผล

วางแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ ภูมิสังคม จึงพิจารณาแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน อัตราส่วน 10 : 20 : 60 : 10 ดังนี้

ส่วนที่ 1 (10%) สระน้ำ (2 ไร่) เพื่อกักเก็บน้ำฝนในฤดูฝน เสริมการเพาะปลูกในฤดูแล้ง

เนื่องจากบริเวณพื้นที่มีฝนตกชุกตลอดปี (2,929 มิลลิเมตรต่อปี) และมีแหล่งน้ำดิบเติม (โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล) จึงปรับลดพื้นที่ขุดสระให้เล็กลงเพื่อสงวนพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป

ส่วนที่ 2 (20%) นาข้าว (4 ไร่) สำหรับปลูกข้าวให้พอเพียงแก่การบริโภคตลอดปี และปลูกพืชหลังนาเสริมรายได้

ปลูกข้าวหอมแม่พญาทองดำ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดจันทบุรี ปริมาณผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือนตลอดปี (โดยเฉลี่ยของคนไทยบริโภคข้าวประมาณ 200 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อคนต่อปี)

ส่วนที่ 3 (60%) ปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น (12 ไร่) ใช้เป็นอาหาร หากเหลือจำหน่ายเป็นรายได้

ส่วนที่ 4 (10%) ที่อยู่อาศัย (2 ไร่) ปลูกบ้าน ยุ้งฉาง โรงเรือนอื่น ๆ

 

มีภูมิคุ้มกัน

การดำเนินงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย แต่ละกิจกรรมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้ลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ ความผันแปรของราคาสินค้า ราคาปัจจัยการผลิต มีการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการผลิต ทำให้ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก เป็นแนวทางลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้และขยายโอกาส

มีความรู้

นำองค์ความรู้สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ร่วมกับข้อมูลพื้นฐานด้าน ทุน แรงงาน ภูมิประเทศ ภูมิสังคม เพื่อให้ได้รูปแบบวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมมาดำเนินงาน เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ประหยัด เรียบง่ายเกิดประโยชน์สูงสุด

มีคุณธรรม

ได้นำหลักเกษตรที่ดีเหมาะสมมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมลดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษ กระบวนการผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจึงทำให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม