ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดจันทบุรี

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12 – 13 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101 – 102 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 6,338 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,961,250 ไร่ คิดเป็น 16.6% ของพื้นที่ภาคตะวันออก และเท่ากัน 1.8% ของพื้นที่ประเทศ ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 235 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ          จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสระแก้ว

ทิศใต้             อ่าวไทย

ทิศตะวันออก     จังหวัดตราด และประเทศกัมพูชา

ทิศตะวันตก      จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพโดยทั่วไปของจังหวัดจันทบุรีด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขาและเนินสูงเป็นส่วนใหญ่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 30 – 150 เมตร ส่วนด้านทิศใต้เป็นชายฝั่งมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มซึ่งบางแห่งเป็นอ่าว แหลม และหาดทราย สูงจากระดับน้ำทะเล 1 – 5 เมตร

การปกครอง

แบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 76 ตำบล 721 หมู่บ้าน  การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย

  1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
  2. เทศบาล (เทศบาลเมือง 2 แห่ง, เทศบาลตำบล 14 แห่ง)
  3. องค์การบริหารส่วนตำบล 68 แห่ง
  4. จำนวนตำบลในจังหวัดจันทบุรีประกอบด้วย
  • อำเภอเมืองจันทบุรี 11 ตำบล
  • อำเภอท่าใหม่ 14 ตำบล
  • อำเภอขลุง 12 ตำบล
  • อำเภอมะขาม 6 ตำบล
  • อำเภอแหลมสิงห์ 7 ตำบล
  • อำเภอโป่งน้ำร้อน 5 ตำบล
  • อำเภอสอยดาว 5 ตำบล
  • อำเภอแก่งหางแมว 5 ตำบล
  • อำเภอนายายอาม 6 ตำบล
  • กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ 5 ตำบล

สภาพภูมิอากาศ

จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทย ทำให้ได้รับอิทธิพลทั้งลมมรสุมจากทะเลจีนใต้และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม หลังจากนั้นจะได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงที่พัดผ่านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อากาศหนาวเย็นเป็นช่วงระยะสั้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มกราคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม

อุณหภูมิมีผลต่อการกำหนดพืชพรรณและสิ่งต่าง ๆ ภายในพื้นที่มีผลต่อการระเหย และปริมาณน้ำฝน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งจังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26.53 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเดือนธันวาคมประมาณ 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเดือนเมษายน ประมาณ 27.8 องศาเซลเซียส ความแตกต่างระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวประมาณ 2.8 องศาเซลเซียส มีความแตกต่างกันน้อยมากเนื่องจากจังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอิทธิพลของลมทะเลและมหาสมุทรเข้าถึง ทำให้อุณหภูมิไม่แตกต่างกันมากนัก

ป่าไม้

มีพื้นที่ป่าไม้ที่ได้ดำเนินการสงวนไว้จำนวน 20 ป่า เนื้อที่รวม 1,860,587.25 ไร่ หรือประมาณ 45.61% ของเนื้อนที่ทั้งหมดของจังหวัด

  • ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 18 แห่ง เนื้อที่ 1,911,027.50 ไร่
  • อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาคิชกูฏ, อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง
  • ป่าวนอุทยาน จำนวน 1 คือ วนอุทยานแหลมสิงห์
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่าวคุ้งกระเบน

แหล่งน้ำธรรมชาติ

                   ประกอบด้วยแม่น้ำสำคัญ 4 สาย คือ

  • แม่น้ำจันทบุรี มีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาวใต้ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน และเขาสามง่าม เขาชะอม ในเขตอำเภอมะขาม ไหลผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี ออกสู่อ่าวไทยในอำเภอแหลมสิงห์
  • แม่น้ำพังราด ประกอบด้วยลำน้ำสายสั้นในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ไหลมาบรรจบกันแล้วไหลออกสู่ปากน้ำพังราด เป็นแนวเขตระหว่างจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี
  • แม่น้ำเวฬุ มีต้นกำเนิดจากเขาชะอม เขามะกอก และเขาสระบาป ไหลผ่านอำเภอขลุง และออกสู่ทะเลทางเกาะจิก อำเภอขลุง
  • คลองโตนด ประกอบด้วย 2 สาขา คือ สาขาด้านซ้ายมีต้นกำเนิดจากเขาสีเสียดซึ่งไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และสาขาด้านขวามีต้นกำเนิดบริเวณเขาชะมูน เขาชะอม และเขาลำปลายพระเทศ ไหลมาบรรจบสาขาด้านซ้ายแล้วไหลออกสู่ทะเลที่บ้านแขมหนู อำเภอท่าใหม่

แหล่งน้ำชลประทาน

มีทั้งสิ้น 120 โครงการ แยกเป็น

  • โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 11 โครงการ พื้นที่ชลประทาน 208,800 ไร่
  • โครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 110 โครงการ พื้นที่ชลประทาน 132,900 ไร่

ทรัพยากรดิน

ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สามารถจัดกลุ่มดินตามลักษณะกลุ่มดินได้ 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มดินนา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่จังหวัด โดยกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนกลางของอำเภอเมืองจันทบุรี ตอนล่างอำเภอมะขาม ด้านตะวันตกและตอนล่างของอำเภอขลุงตอนบนและตอนล่าอำเภอท่าใหม่ ด้านตะวันตกและตอนกลางอำเภอแหลมสิงห์ ตอนบนอำเภอโป่งน้ำร้อย และอำเภอสอยดาวและตอนล่างอำเภอนายายอาม
  • กลุ่มภูเขา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 26 ของพื้นที่จังหวัด โดยกระจายอยู่ทั่วไปของอำเภอท่าใหม่ ด้านตะวันตกและตะวันออกของอำเภอแก่งหางแมว ตอนกลางของอำเภอนายายอาม ด้านตะวันออกของอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขามตอนบนและตะวันตำของอำเภอขลุง และด้านตะวันตกของอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว
  • กลุ่มดินเค็มชายฝั่งทะเล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่จังหวัด โดยกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนล่างของอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ กระจายอยู่ทั่วไปของอำเภอแหลมสิงห์ และตอนล่างของอำเภอนายายอาม
  • กลุ่มดินตื้น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่จังหวัด โดยกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนกลางของอำเภอเมืองจันทบุรี ตอนบนของอำเภอมะขาม อำเภอขลุง และอำเภอท่าใหม่ตอนกลางของอำเภอแก่งหางแมวและตอนล่างของอำเภอนายายอาม
  • กลุ่มดินไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 4 ของพื้นที่จังหวัด โดยกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนบนและด้านตะวันตกของอำเภอเมืองจันทบุรี ด้านตะวันตกและตอนล่างของอำเภอมะขาม ตอนกลางของอำเภอขลุง ด้านตะวันออกและตอนล่างของอำเภอท่าใหม่กระจายทั่วไปในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว ด้านตะวันออกของอำเภอแก่งหางแมว และตอนกลางของอำเภอนายายอาม
  • กลุ่มดินเปรี้ยว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 2 ของพื้นที่จังหวัด พบในบริเวณพื้นที่ตอนล่างของอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอนายายอาม
  • กลุ่มดินคละ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 1 ของพื้นที่จังหวัด โดยพบอยู่บริเวณพื้นที่ทิศตะวันออกของอำเภอขลุง และตะวันออกของอำเภอมะขาม
  • กลุ่มดินภูเขา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 21 ของพื้นที่จังหวัด แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอำเภอท่าใหม่ ด้านตะวันตกของอำเภอแก่งหางแมว และตอนล่างของอำเภอนายายอาม