ศึกษาการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ
#1
การศึกษาการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ 
วิภาวรรณ  กิติวัชระเจริญ, วาสนา  วันดี, อิสระ พุทธสิมมา, ดารารัตน์   มณีจันทร์, สุจิตรา  พิกุลทอง,ดุจลดา พิมรัตน์ และสุรีรัตน์  ทองคำ

                 ปีงบประมาณ 2555-57  ศึกษาและสำรวจการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย ในแปลงเปรียบเทียบในท้องถิ่นอ้อยคั้นน้ำ อ้อยปลูกและอ้อยตอ1 จำนวน 2 แปลง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี และ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น จ.ขอนแก่น  ศึกษาในอ้อยโคลนดีเด่น 6 โคลนและอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ขนาดแปลงทดลอง 52 x 36 เมตร ขนาดแปลงทดลองย่อย 5.2 x 8.0 เมตร ปลูกอ้อยหลุมละ 2 ท่อนๆละ 2 ตา ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน  2 ครั้งๆละ 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออ้อยอายุ 2 3 4และ 5 เดือน สำรวจการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในอ้อยปลูก และอ้อยตอ 1 เมื่ออ้อยอายุ 2 3 4 และ  5 เดือน บันทึกข้อมูลจำนวนหน่ออ้อยทั้งหมด และหน่ออ้อยที่ถูกหนอนกอเข้าทำลาย  สำรวจชนิดของหนอนกอ  ในระยะอ้อยแตกกอ  ย่างปล้องและเป็นลำ  ผลการทดลองพบว่าหนอนกอเข้าทำลายมากในระยะอ้อยแตกกอ และระยะอ้อยย่างปล้อง และลดน้อยลงในระยะอ้อยเป็นลำ ตามลำดับ และพบหนอนกอที่เข้าทำลาย 2 ชนิด ได้แก่ หนอนกอลายจุดเล็ก และหนอนกอสีขาว  แปลงเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นอ้อยคั้นน้ำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี พบว่า ในอ้อยปลูก ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกหนอนกออ้อยเข้าทำลายในระยะการเจริญเติบโต ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ในระยะอ้อยแตกกอค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกหนอนกออ้อยเข้าทำลายไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่จะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในระยะอ้อยย่างปล้องและระยะอ้อยเป็นลำตามลำดับ อยู่ระหว่าง 3.67 – 8.33 พบว่าระยะอ้อยย่างปล้อง โคลนพันธุ์ 119 เปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกทำลายน้อยที่สุด คือ 2.26 เมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี50มีเปอร์เซ็นต์หน่อที่ถูกทำลาย 4.21 เปอร์เซ็นต์  และในระยะอ้อยเป็นลำ โคลนพันธุ์ 115 มีเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกทำลายน้อยที่สุด คือ 2.50 เมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี50มีเปอร์เซ็นต์หน่อที่ถูกทำลาย 9.71 เปอร์เซ็นต์  เมื่อดูค่าเฉลี่ยการเข้าทำลายของทุกระยะพบว่าโคลนพันธุ์ 115 มีเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลายของหน่อกออ้อยน้อยที่สุด คือ 3.67 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 มีเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลาย 6.13เปอร์เซ็นต์ และเมื่อสำรวจในอ้อยตอ1 พบว่าค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์การเข้าทำลายอยู่ระหว่าง 3.43-6.27 โดยมีโคลนพันธุ์115 มีเปอร์เซ็นต์หนอนกอเข้าทำลายน้อยที่สุด 3.43 เปอร์เซ็นต์ ที่แปลงเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นอ้อยคั้นน้ำที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น จ.ขอนแก่น  พบว่าในแปลงอ้อยปลูก  ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกหนอนกออ้อยเข้าทำลายในระยะการเจริญเติบโต ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแตกกอ ระยะย่างปล้องและระยะอ้อยเป็นลำ ไม่แตกต่างกันทางสถิติ มีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยถูกหนอนกอเข้าทำลายระหว่าง 2.10-3.96 เปอร์เซ็นต์ ในอ้อยตอ1 เปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกหนอนกอทำลายของโคลนพันธุ์ต่าง ๆ อยู่ระหว่าง 6.73 - 11.43 เปอร์เซ็นต์ ที่ระยะแตกกอ และระยะย่างปล้องของอ้อยเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ส่วนระยะเริ่มเป็นลำ เปอร์เซ็นต์การเข้าทำลายไม่แตกต่างกันทางสถิติโดยพบว่า โคลนพันธุ์ 107 หนอนกอเข้าทำลายหน่ออ้อยน้อยที่สุดที่ระยะแตกกอ ระยะย่างปล้องและระยะเป็นลำ 5.86 ,7.12และ3.59 ปอร์เซ็นต์ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 มีเปอร์เซ็นต์หน่ออ้อยที่ถูกทำลายมากที่สุดทั้ง 3 ระยะการเจริญเติบโต คือ 13.92, 13.61 และ 6.75 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงสุด 11.43 เปอร์เซ็นต์ 


ไฟล์แนบ
.pdf   18_2557.pdf (ขนาด: 127.32 KB / ดาวน์โหลด: 680)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม