การคัดเลือกเห็ดหอมสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
#1
การคัดเลือกเห็ดหอมสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
นันทินี ศรีจุมปา, ศิรากานต์ ขยันการ, สุธามาศ ณ น่าน และสุวลักษณ์ ชัยชูโชติ
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด  สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

          การคัดเลือกเห็ดหอมสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ตั้งแต่ตุลาคม 2555 ถึงมีนาคม 2558 จากการทดสอบการเจริญทางเส้นใยของเห็ดหอม 19 สายพันธุ์ บนอาหารเลี้ยงเชื้อ Potato Dextrose Agar บ่มไว้ที่อุณหภูมิห้องในฤดูหนาว ฝน และ ร้อน  พบว่าเห็ดหอมสายพันธุ์ที่ 17 มีอัตราการเจริญทางเส้นใยที่ดีที่สุดทั้ง 3 ฤดูกาล และเส้นใยของเห็ดหอมมีการเจริญเติบได้ดีที่สุดในฤดูหนาว รองลงไป คือ ฤดูร้อน และ ฤดูฝน ตามลำดับ เมื่อทำการเปรียบเทียบการเจริญทางเส้นใยบนก้อนวัสดุเพาะของเห็ดหอมแต่ละสายพันธุ์ที่บ่มเชื้อในฤดูร้อน และ ฤดูหนาว เป็นระยะเวลา 30 วัน พบว่าเส้นใยของเห็ดหอมเจริญเติบโตบนก้อนวัสดุเพาะในฤดูหนาวดีกว่าในฤดูร้อน ในการเปรียบเทียบผลผลิตจากการเพาะสามครั้งพบว่า ผลผลิตของเห็ดหอมที่เปิดดอกในช่วงฤดูหนาวจะสูงกว่าเห็ดหอมที่เปิดดอกช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนเกือบทุกสายพันธุ์ โดยเห็ดหอมสายพันธุ์ที่  11 12 และ 15 ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นในการเปิดดอกในช่วงฤดูหนาว  ในขณะที่สายพันธุ์ที่ 4  7 15 11 และ 12 เป็นสายพันธุ์ให้ผลผลิตสูงในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน  แสดงว่าสายพันธุ์ 11 12 และ 15 เป็นสามสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว จากการประเมินคุณภาพของเห็ดหอมสายพันธุ์ต่างๆทางด้าน น้ำหนักต่อดอก เส้นผ่าศูนย์กลางหมวกเห็ด ความยาวและความกว้างของก้านเห็ดพบว่า มีความแตกต่างกันเมื่อเพาะในแต่ละฤดู  ในฤดูหนาว สายพันธุ์ที่ 13 16 และ 5 มีน้ำหนักต่อดอกสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ในขณะที่ในฤดูร้อนสายพันธุ์ที่ 7 16 และ 9 เป็นสามสายพันธุ์ที่มีน้ำหนักต่อดอกสูงกว่าสายพันธุ์อื่น โดยภาพรวมพบว่าขนาดของก้านเห็ดหอมทุกสายพันธุ์ที่เพาะในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านของเห็ดหอมที่เพาะในฤดูหนาว


ไฟล์แนบ
.pdf   203_2557.pdf (ขนาด: 392.65 KB / ดาวน์โหลด: 460)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม