รวบรวม จำแนกลักษณะและศึกษาการเกิดดอกของเห็ดลิ้นกวาง
#1
รวบรวม จำแนกลักษณะและศึกษาการเกิดดอกของเห็ดลิ้นกวาง
กรกช จันทร, อนุสรณ์ วัฒนกุล และวราพร ไชยมา
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ

          การสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างเห็ดลิ้นกวางช่วงฤดูฝน ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2556 ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ พบเห็ดลิ้นกวาง จำนวน 5 ไอโซเลต คือ Fh001, Fh002, Fh005, Fh006 และ Fh007 และได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างเชื้อเห็ดลิ้นกวาง 2 ไอโซเลต จากสาขาวิชาโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ NN1 (Fh003) และ PR (Fh004) การเจริญของเส้นใยเห็ดลิ้นกวาง 7 ไอโซเลต บนอาหารวุ้น 6 ชนิด ที่บ่มเชื้อใน 2 สภาพ คือ สภาพปรกติและสภาพมืด พบว่าเชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh001, Fh002, Fh005 และ Fh007 มีการเจริญของเส้นใยได้ดีที่สุดบนอาหาร PMP ซึ่งการเจริญของเชื้อเห็ดไม่แตกต่างกันทั้งที่เลี้ยงใน 2 สภาพ เชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh003 เจริญได้ดีที่สุดบนอาหาร PMP ในสภาพมืดได้ดีกว่าสภาพมีแสงปรกติ เชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh004 เจริญได้ดีที่สุดบนอาหารเลี้ยงเชื้อ GPA ทั้งที่เลี้ยงใน 2 สภาพไม่แตกต่างกัน และเชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh006 เจริญได้ดีที่สุดบนอาหาร PDA ในสภาพมืดดีกว่าสภาพมีแสงปรกติ การศึกษาการเจริญของเชื้อเห็ดลิ้นกวาง 4 ไอโซเลต ที่คัดเลือกมา คือ Fh001 Fh002 Fh005 และ Fh006 บนอาหารเลี้ยงเชื้อพื้นฐานที่มีการเติมแหล่งคาร์บอน 7 ชนิด และแหล่งไนโตรเจน 6 ชนิด ที่แตกต่างกัน พบว่า เชื้อเห็ดลิ้นกวางทั้ง 4 ไอโซเลต เจริญได้ดีที่สุดบนอาหารที่มีแหล่งคาร์บอนแมนโนสเป็นองค์ประกอบ ในส่วนของแหล่งไนโตรเจน เชื้อเห็ดลิ้นกวาง 4 ไอโซเลต มีการเจริญได้ดีบนอาหารพื้นฐานที่มีแหล่งไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่แตกต่างกัน การเจริญของเชื้อเห็ดลิ้นกวาง 4 ไอโซเลต ที่ช่วงอุณหภูมิต่างๆ 5 ระดับ พบว่าเชื้อเห็ดลิ้นกวางทุกไอโซเลตเจริญได้ดีที่สุดที่ช่วงอุณหภูมิ 25 - 27°c (อุณหภูมิห้อง) และรองลงมาที่ช่วงอุณหภูมิ 25°c ในการเตรียมเชื้อขยายเห็ดลิ้นกวางบนเมล็ดข้าวฟ่าง พบว่าการบ่มเส้นใยในสภาพปรกติและในสภาพมืด เห็ดลิ้นกวาง Fh002 มีอัตราการเจริญสูงกว่าเห็ดลิ้นกวาง Fh005, Fh006 และ Fh001 ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบวัสดุเพาะ 3 สูตรในเบื้องต้นกับเชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh001 โดยบ่มก้อนเชื้อที่อุณหภูมิห้อง (25 - 27°c) ในสภาพไม่มีแสง พบว่าที่ 15 วัน หลังจากใส่เชื้อขยาย เส้นใยของเชื้อเห็ดเริ่มเจริญลงไปบนวัสดุเพาะ และที่ 30 วัน เชื้อเห็ดบนวัสดุเพาะสูตร 3 (ขี้เลื่อยไม้ยางพารา : ข้าวฟ่างต้มสุก :  ปูนขาว : ดีเกลือ อัตรา 100 : 50 : 1: 0.2 กิโลกรัม) เจริญเร็วกว่าวัสดุสูตร 2 (ขี้เลื่อยไม้ยางพารา : รำละเอียด :  ปูนขาว : ดีเกลือ อัตรา 100 : 50 : 1: 0.2 กิโลกรัม) และสูตร 1 (ขี้เลื่อยไม้ยางพารา : รำละเอียด :  ปูนขาว : ดีเกลือ อัตรา 100 : 5 : 1: 0.2 กิโลกรัม) ตามลำดับ นำสูตรวัสดุเพาะทั้ง 3 สูตร ไปใช้ในการศึกษาการเจริญของเชื้อเห็ดลิ้นกวาง ทั้ง 4 ไอโซเลต พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 12 วัน เชื้อเห็ดลิ้นกวางทั้ง 4 ไอโซเลต ไม่มีการเจริญของเส้นใยลงบนวัสดุเพาะสูตรใดเลย ซึ่งแตกต่างจากการทดสอบในเบื้องต้นกับเชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh001 และเมื่อเวลาผ่านไปก้อนเชื้อเห็ดแสดงการปนเปื้อนของราดำและราเขียว จึงยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสูตรอาหารที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเห็ดลิ้นกวาง อย่างไรก็ตามในการทดสอบเบื้องต้นกับเห็ดลิ้นกวาง Fh001 นั้น ก้อนเชื้อเห็ดที่เส้นใยเจริญเต็มแล้ว ย้ายมาบ่มในสภาพมีแสงสว่าง เพื่อให้เส้นใยแก่และกระตุ้นให้เกิดการสร้างตุ่มดอก พบว่าเชื้อเห็ดลิ้นกวาง Fh001 บนวัสดุเพาะสูตร 1 เท่านั้น ที่มีการสร้างตุ่มดอกเกิดขึ้น เมื่อย้ายก้อนเชื้อไปบ่มเลี้ยงต่อที่ตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 23 - 25°c ดอกเห็ดลิ้นกวางจะเจริญพัฒนาจนอยู่ในช่วงที่มีลักษณะเหมาะสมแก่การเก็บผลผลิตได้ เมื่อเวลาผ่านไป 5 - 7 วัน


ไฟล์แนบ
.pdf   205_2557.pdf (ขนาด: 668.77 KB / ดาวน์โหลด: 1,507)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม