การจัดทำแผนที่ความเหมาะสมเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองในเขตภาคเหนือ
#1
การจัดทำแผนที่ความเหมาะสมเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองในเขตภาคเหนือ
นรีลักษณ์ วรรณสาย, นิภาภรณ์ พรรณรา, กัณทิมา ทองศรี, สนอง บัวเกตุ และวิระศักดิ์ เทพจันทร์

          ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี ในขณะที่พื้นที่ปลูกลดลงอย่างต่อเนื่องโดยสาเหตุหลักหนึ่ง คือ เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี ข้อมูลพื้นที่เหมาะสมสำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยการวางแผนผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเกษตรกร และภาคส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การจัดทำแผนที่ความเหมาะสมสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองได้ดำเนินการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก ปี 2556 - 2557 ใช้หลักการประเมินคุณภาพที่ดิน และวิธีการประเมินแบบหลายปัจจัยในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ทำการศึกษาเน้นเฉพาะพื้นที่นาที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง โดยใช้ข้อมูลปัจจัยที่มีผลต่อการจัดระบบความเหมาะสมจำนวน 7  ปัจจัย ได้แก่ พื้นที่รับน้ำชลประทาน การระบายน้ำของดิน ปริมาณน้ำฝนในช่วงการผลิต อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในช่วงการผลิต pH ของดิน อินทรียวัตถุในดิน และปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดิน และทำการถ่วงน้ำหนักของปัจจัยโดยอาศัยหลักการของการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น (Analytical Hierarchy Process; AHP) หลังจากนั้นจึงประเมินความเหมาะสมเชิงพื้นที่ ผลที่ได้ คือ ชั้นความเหมาะสมของการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่แสดงเป็นแผนที่ความเหมาะสม 4 ระดับ คือ เหมาะสมมาก (S1) เหมาะสมปานกลาง (S2) เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) จากการตรวจสอบความแม่นยำของการประเมินความเหมาะสมด้วยการเปรียบเทียบกับข้อมูลผลผลิตในพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองอำเภอแม่ริม และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 55 ราย พบว่าความแม่นยำของการประเมินของทั้งสองอำเภอมีค่าเท่ากับ 85.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ จากนั้นจึงประเมินความเหมาะสมของพื้นที่นาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ภาคเหนือทั้ง 15 จังหวัด โดยจัดแบ่งชั้นความเหมาะสมของพื้นที่เป็น 4 ระดับ เช่นเดียวกัน ผลการวิเคราะห์พบว่า พื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลางสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง มีพื้นที่รวม 4,677,288 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.9 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกข้าวของภาคเหนือ ในขณะที่พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในภาคเหนือในปี 2556 มีเพียง 114,283 ไร่ เท่านั้น จึงเป็นโอกาสที่จะขยายพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อมายังพื้นที่ที่มีศักยภาพเหล่านี้เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   80_2557.pdf (ขนาด: 267.66 KB / ดาวน์โหลด: 651)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม