การวิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาพืชท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พรทิพย์ แพงจันทร์

          การวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชท้องถิ่นที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ มะเม่า คราม และหวาย เพื่อให้ได้เทคโนโลยีตั้งแต่เรื่องพันธุ์ เขตกรรม การจัดการคุณภาพ และการแปรรูป ผลการดำเนินการระหว่างปี 2557 - 2558 เป็นการพัฒนาต่อจากปี 2554 - 2556 สำหรับมะเม่า เป็นการศึกษามะเม่าหลวง (A. thwaitesianum Muell Arg.) โดยการสำรวจ รวบรวม และศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ จัดทำชั้นมาตรฐานคุณภาพ สร้างแผนที่แสดงแหล่งปลูกพร้อมจัดทำฐานข้อมูลการผลิตมะเม่า โดยสุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกมะเม่าจำนวน 60 ราย จากแบบสำรวจและสมาชิกชมรมผู้ปลูกมะเม่าในจังหวัดสกลนคร ที่มีต้นมะเม่าอายุระหว่าง 5 - 15 ปี และอยู่ในระยะให้ผลผลิตพบว่า มะเม่าจัดกลุ่มแบ่งออกตามลักษณะใบที่มีลักษณะต่างกันได้ 2 กลุ่ม คือ ใบแหลมยาว 10 สายต้น และใบกว้างมน 7 สายต้น ชั้นมาตรฐานคุณภาพของมะเม่าซึ่งได้คัดเลือกตามลักษณะทางกายภาพ ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต พบว่าชั้นมาตรฐานคุณภาพของมะเม่าสดในเทือกเขาภูพาน แบ่งออกได้ 3 ชั้นมาตรฐาน คือ A B และ C ตามลำดับ การสร้างแผนที่แสดงแหล่งปลูกมะเม่า สำหรับการศึกษาผลของการให้น้ำแบบละอองหมอกต่อการติดผลของมะเม่า ดำเนินการในแปลงเกษตรกรและแปลงทดลองพื้นที่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร วางแผนการทดลองแบบ RCD 2 กรรมวิธีๆ ละ 5 ต้น กรรมวิธีที่ 1 ไม่มีระบบการให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) กรรมวิธีที่ 2 ให้น้ำแบบละอองหมอก ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง ผลการศึกษาในแปลงเกษตรกรพบว่า แปลงที่ไม่มีระบบการให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,868 กิโลกรัมต่อไร่ ปริมาณน้ำคั้นจากผลสดน้ำหนัก 500 กรัม เฉลี่ย 173 มิลลิลิตร สำหรับแปลงที่มีการให้น้ำแบบละอองหมอกให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,468 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มจากที่ไม่ให้น้ำคิดเป็นร้อยละ 186 และการให้น้ำทำให้ปริมาณน้ำคั้นของผลสดเป็น 182 มิลลิลิตร การแปรรูปมะเม่าเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเพิ่มมูลค่า จากผลงานวิจัยพบว่า น้ำมะเม่ามีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถเก็บรักษาได้จึงพัฒนาชุดเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำหมากเม่าพร้อมดื่มเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าเฉพาะถิ่นได้ศึกษาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกนำไปผลิตเพื่อเป็นสินค้า เช่น ขนมขบเคี้ยวกัมมี่ เยลลี่แข็ง พั้นซ์มะม่า ไอศกรีมมะเม่านมสด น้ำมะเม่าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

          การศึกษาอิทธิพลของปุ๋ยต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตครามพันธุ์ฝักตรงและฝักงอ โดยในปี 2557 วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ได้แก่ ไม่ใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอก และใส่ปุ๋ยคอกร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี ผลการดำเนินงานพบว่า ในครามฝักตรง ปี 2547 ไม่มีการใส่ปุ๋ยให้ค่าความเข้มสี 0.786 สูงที่สุด ปี 2548 กรรมวิธีที่มีการใส่ปุ๋ย N+P+K อัตรา 6+5+5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ค่าความเข้มสีสูงที่สุด 0.937 แตกต่างจากกรรมวิธีอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับครามพันธุ์ฝักงอพบว่า กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ย N+P+K อัตรา 12+5+5 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักเนื้อครามเปียกมากที่สุด 300 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ค่าความเข้มสีสูงสุด คือ 2.3978 สำหรับการศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตในครามพันธุ์ฝักตรงพบว่า ระยะปลูก 60 x 50 เซนติเมตร ให้น้ำหนักเนื้อครามเปียกสูงที่สุด คือ 220 กิโลกรัมต่อไร

          การวิจัยพัฒนาเรื่องหวาย ผลการดำเนินงานพบว่า รวบรวมพันธุ์หวายได้ 2 พันธุ์ คือ 1) หวายหนามขาว (Calamus floribundus Griff.) และ 2) หวายดง (Calamus siamensis) ข้อมูลการเจริญเติบโตของหวายพันธุ์หนามขาวและหวายพันธุ์หนามแดง มีความสูง เท่ากับ 38.81 และ 36.73 เซนติเมตร ตามลำดับ จำนวนหน่อต่อกอเฉลี่ย 1.25 และ 1.11 หน่อ ตามลำดับ การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพหน่อหวายพบว่า เมื่อใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 2 ตันต่อไร่ ร่วมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ให้จำนวนหน่อเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 3.44 หน่อต่อกอ และให้น้ำหนักหน่อยเฉลี่ย 29.1 กรัมต่อกอ แต่ทุกกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตและคุณภาพหน่อหวายขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการตัดหน่อหวายและการจัดการแปลงที่ดี


ไฟล์แนบ
.pdf   222_2558.pdf (ขนาด: 194.43 KB / ดาวน์โหลด: 1,016)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม