การบริการตรวจสอบโรคและศัตรูพืชในแปลงปลูกของเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม
#1
การบริการตรวจสอบโรคและศัตรูพืชในแปลงปลูกของเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม และรับรองการปลอดศัตรูพืชเพื่อการส่งออก
ศรีวิเศษ  เกษสังข์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         การตรวจสอบโรคและศัตรูพืชในแปลงปลูกของเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการส่งออกมีการดำเนินงาน 5 ขั้นตอนได้แก่ 1)การตรวจสอบเชื้อโรคและศัตรูพืชกับเมล็ดพันธุ์พ่อ-แม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศก่อนการอนุญาตให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม 2)การวางแผนการตรวจสอบศัตรูพืชและการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในแปลงปลูก 3)การบริการตรวจสอบโรคและศัตรูพืชในช่วงที่พืชเจริญเติบโตในแปลงปลูก 4)การบริการตรวจสอบศัตรูพืชกับเมล็ดพันธุ์ลูกผสมหลังการเก็บเกี่ยว และ 5)การจัดทำรายงานเพื่อการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ที่ต้องระบุข้อความรับรองพิเศษ (Additional Declaration) ตามเงื่อนไขของประเทศผู้ซื้อ การดำเนินงานในฤดูการผลิตปี 2553/54 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งสิ้นจำนวน 5,753 ราย (ครอบครัว) โดยอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ 15 บริษัท สามารถตรวจสอบและให้การรับรองการปลอดศัตรูพืช 134 ชนิด กับเมล็ดพันธุ์ผัก 8 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ พริกหวาน/พริกเผ็ด มะเขือม่วง แตงโม เมลอน/แตงเทศ /แตง แคนตาลูป แตงกวา สคว๊อช และฟักทอง เมล็ดพันธุ์พืชไร่ 1 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด และเมล็ดพันธุ์หญ้า 1 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์หญ้าจัมโบ้ การดำเนินงานตรวจสอบเมล็ดพันธุ์พ่อ-แม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ ผลปรากฏว่าไม่พบศัตรูพืชที่สำคัญทางกักกันพืช และได้ดำเนินการตรวจสอบศัตรูพืชในแปลงเกษตรกรในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง รวม 28 จังหวัด พื้นที่ปลูก 10,410.60 ไร่ ตรวจพบศัตรูพืชที่ต้องการให้รับรอง 6 ชนิด ได้แก่ Acidovorax avenea subsp. citrulli, Mycosphaerella melonis  (Didymella  bryoniae), Xanthomonas campestris pv. vesicatoria, Cucumber Mosaic Virus, Tobacco Mosaic Virus และ Maize Dwarf Mosaic Virus กับแปลงเกษตรกรจำนวน 124 แปลง ดังนั้นจึงได้ยกเลิกการรับรองเพื่อการส่งออกกับแปลงดังกล่าว และสามารถให้การรับรองการปลอดศัตรูพืชกับเมล็ดพันธุ์ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวน 18 ประเทศ ปริมาณการส่งออก 2,994.95 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกษตรกร 5,753 ครอบครัว มีรายได้เพิ่มขึ้นจากฤดูการทำนาปีเฉลี่ยครอบครัวละ 85,000 บาทต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรประมาณ 11,500  คน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ลูกผสมของประเทศไทยให้ได้มีมาตรฐานสูงขึ้นเนื่องจากเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวปราศจากเชื้อโรคและศัตรูพืชที่ร้ายแรง ตามความต้องการของประเทศผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นการค้ากับประเทศอื่นในตลาดโลกได้


ไฟล์แนบ
.pdf   1892_2554.pdf (ขนาด: 154.31 KB / ดาวน์โหลด: 500)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม