ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 7 หรือทุเรียนลูกผสมสายพันธ์ 10-432-6 จากการศึกษาและผสมข้ามพันธุ์ทุเรียนเพื่อผลิตทุเรียนลูกผสมในอนาคต ได้ทำการผสมข้ามพันธุ์โดยการใช้พันธุ์พ่อพันธุ์แม่ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 18 สายพันธุ์ ทำการผสมพันธุ์สลับพ่อแม่จำนวน 55 คู่ผสม ได้เมล็ดลูกผสมทั้งหมด 17,840 เมล็ด นำต้นกล้าลูกผสมไปปลูกในแปลงและทำการคัดเลือก เพื่อให้ได้ทุเรียนลูกผสมที่มีคุณภาพดี และมีคุณลักษณะต่างๆตามความต้องการของตลาดและขยายช่วงการผลิต ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2533 ที่แปลงทดลอง ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยทำการประเมินและคัดเลือกทุเรียนลูกผสมชั่วที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เกณฑ์การคัดเลือกใช้เฉพาะลักษณะทางคุณภาพที่สำคัญ5 ลักษณะคือ น้ำหนักผล ความหนาเนื้อ เปอร์เซ็นต์เนื้อต่อผล คุณภาพในการรับประทาน และเปอร์เซ็นต์เมล็ดลีบ รวมทั้งอายุการเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์การติดผลและผลผลิต ผลจากการคัดเลือกได้ทุเรียนลูกผสมที่มีคุณภาพดีเด่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ปี โดยเปรียบเทียบกับพันธุ์การค้าในปัจจุบัน และในระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 ได้ประเมินและคัดเลือกทุเรียนลูกผสมชั่วที่ 1ได้สายพันธุ์ลูกผสมซึ่งมีคุณสมบัติดีเด่นได้แก่ ลูกผสมหมายเลข 10-432-6 (จันทบุรี 7) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างแม่พันธุ์ก้านยาวผสมกับพ่อพันธุ์ชะนี
ทรงพุ่มเป็นรูปฉัตร พุ่มโปร่งกิ่งแขนงห่าง ต้นมีความสูงประมาณ 10 เมตร ใบมีขนาดยาวและใหญ่ รูปทรงยาวเรียวปลายใบเรียวแหลมและยาวขอบใบเรียบ ช่อดอกเกิดตามกิ่งแขนงใหญ่ เป็นช่อดอกแบบ ช่อเชิงหลั่นประกอบด้วยดอกย่อยตั้งแต่ 1-30 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดผลปานกลางน้ำหนักผลอยู่ ระหว่าง 1.76–2.83 กิโลกรัม มีก้านผลยาว 5.87 เซนติเมตร ทรงผลค่อนข้างกลมพูนูนชัดเจน ร่องพูไม่ลึก หนามเล็ก สั้น ขอบหนามทั้งสองข้างโค้งเข้าตรงเนื้อหนาปานกลาง สีเหลืองเข้ม (Y14C) รสชาติดี หวานมันเนื้อเหนียวละเอียด ถึงแม้ปลิงหลุดแล้ว เนื้อคงสภาพได้นาน ไม่เละ กลิ่นอ่อนเมล็ดยาวรี สีน้ำตาล มีความกว้าง 3.57 เซนติเมตร ยาว 6.38 เซนติเมตร
เขตปลูกทุเรียนภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง หรือ ภาคอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับภาคตะวันออก
ควรระวังโรครากเน่าในทุเรียน
พันธุ์แนะนำ รับรองเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน