มอดดิน ศัตรูข้าวโพดในภาวะแล้ง

มอดดิน ( Ground weevil : Calomycterus sp.) ทำลายพืชในระยะตัวเต็มวัยเท่านั้น ระบาดในสภาพแล้งจัด โดยทั่วไปมอดดินชอบอาศัยในดินและมีสีกลมกลืนกับสีดินจึงได้ชื่อว่ามอดดิน แต่มีรูปร่างลำตัวอ้วนป้อมสั้น และมีปากงุ้มลงคล้ายงวงช้าง เกษตรกรจึงนิยมเรียกว่ามอดช้าง

ลักษณะการทำลาย กัดกินใบและลำต้นอ่อนของข้าวโพด รวมทั้งเมล็ดที่เพิ่งงอก ทำให้ต้นกล้าเสียหายถึงตายได้ ต้นที่รอดจากการทำลายจะแตกแขนง ชะงักการเจริญเติบโตทำให้ข้าวโพดแก่ไม่พร้อมกัน ฝักลีบเล็กหรือไม่ติดเมล็ด เกษตรกรมักจะไม่สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการระบาดของแมลงชนิดนี้ จำเป็นต้องไถทิ้งและปลูกใหม่ มักประสบปัญหานี้ในสภาพฝนแล้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความเสียหายจากแมลงชนิดนี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ มอดดินในระยะไข่มีลักษณะกลมรีสีขาว ผิวเรียบ วางเป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่เฉลี่ย 6.8 วัน หนอนมีรูปร่างงอเป็นรูปตัว C ไม่มีขา หนอนที่โตเต็มที่มีความกว้างของหัวกะโหลกเฉลี่ย 0.75 มิลลิเมตร ความยาวลำตัวเฉลี่ย 6.5 มิลลิเมตร ระยะหนอน เฉลี่ย 45 วัน ดักแด้ มีรูปร่างแบบ exarate pupa คือขาและปีกเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระไม่ติดกับลำตัว มีสีขาวครีม ระยะดักแด้ เฉลี่ย 5 วัน ตัวเต็มวัย เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวป้อม มีสีดำปนน้ำตาลและเทา มีขนาดความกว้างของลำตัวเฉลี่ย 2.22 มิลลิเมตร ความยาวลำตัวเฉลี่ย 3.5 มิลลิเมตร กลางวันพบเดินอยู่ทั่วๆ ไปในแปลง หรือหลบอยู่ใต้ดินแถวโคนต้นพืชหรือเศษซากพืช โดยเฉพาะตามกอต้นอ่อนของข้าวโพดที่งอกจากฝักที่หลงตกค้างอยู่ ตัวเต็มวัยเริ่มออกหากินในเวลาพลบค่ำ พร้อมกับจับคู่ผสมพันธุ์กันไปด้วย ตัวเต็มวัยวางไข่ในดินและตัวหนอนจะอาศัยกินอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินจนกระทั่งเข้าดักแด้

ระยะไข่
ระยะหนอน (ภาพซ้าย) ดักแด้ (ภาพขวา)
ตัวเต็มวัยมอดดิน

การป้องกันกำจัด แมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ คือ แมลงหางหนีบ Prereus simulans Stallen เป็นตัวห้ำกัดกินไข่และหนอนของมอดดิน เนื่องจากมอดดินทำลายข้าวโพดตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก ดังนั้นถ้าจำเป็นที่ต้องปลูกข้าวโพดในแหล่งที่เคยมีการระบาด หรือมีการระบาดทุกปี ควรใช้สารฆ่าแมลงประเภทคลุกเมล็ดก่อนปลูก เพราะให้ผลในการป้องกันได้ดี อีกทั้งประหยัด สะดวกและปลอดภัยต่อผู้ใช้ ซึ่งสารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลดี คือ อิมิดาโคลพริด (เกาโช 70% ดับบลิวเอส) อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 25 เอสที) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม สำหรับในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงชนิดผสมน้ำฉีดพ่น หรือหากยังพบปริมาณแมลงสูงอยู่โดยสังเกตจากรอยทำลาย ถ้าพบต้นที่ใบถูกทำลายเสียหาย 50 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทั้งหมด ให้พ่นสารฆ่าแมลงชนิดผสมน้ำอีกครั้งให้ทั่วต้นอ่อนและรอบๆ บริเวณโคนต้น สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ดี คือ คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เนื่องจากการทำลายของแมลงชนิดนี้รุนแรงขึ้นเมื่อแล้งจัด ดังนั้นควรจัดระยะเวลาปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้นอ่อนกระทบแล้งเพราะหลังจากพ้นระยะอายุข้าวโพดประมาณ 2 สัปดาห์ไปแล้วก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายมาก

แหล่งข้อมูล: แมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการป้องกันกำจัด เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร ระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร