เพลี้ยอ่อนข้าวโพด

เพลี้ยอ่อนข้าวโพด (Corn leaf aphid : Rhopalosiphum maidis Fitch)

เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวช้า ตัวเต็มวัยมีสีเขียวอ่อนทั้งตัว พบทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ซึ่งเป็นตัวเมียทั้งหมด ตรงส่วนท้ายของลำตัวมีท่อเล็กๆ ยื่นออกมาคล้ายหาง 2 อัน ท่อนี้เรียกว่า คอนิเคิล (conicle) ซึ่งเป็นที่ขับถ่ายน้ำหวาน (honey dew) ที่เกิดจากการดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่ออาหารของพืช ปากมีลักษณะเป็นท่อคล้ายเข็มฉีดยา

เพลี้ยอ่อนขยายพันธุ์โดยออกลูกเป็นตัว มีเพศเมียเพียงหนึ่งเพศ ตัวอ่อนที่ออกมาใหม่ๆ มีขนาดเล็กมาก จะมองเห็นเป็นเพียงจุดสีเหลืองอ่อน เพลี้ยอ่อนที่ไม่มีปีกจะลอกคราบไม่เกิน 4 ครั้ง ก็จะเป็นตัวแก่ที่สมบูรณ์ ถ้ามีการลอกคราบครั้งที่ 5 ก็จะเป็นพวกมีปีก ซึ่งมักจะเกิดเมื่อพืชอาหารไม่สมบูรณ์ เช่น มีเพลี้ยอ่อนเกาะดูดกินอย่างหนาแน่น ขาดน้ำ หรือแก่ไป ระยะเวลาจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 12 วัน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้ว ก็พร้อมจะขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ ภายในระยะเวลาประมาณ 5 วันหลังจากเป็นตัวเต็มวัย เพลี้ยอ่อนตัวหนึ่งออกลูกได้ถึง 45 ตัว เฉลี่ย 19 ตัว ถ้ามีพืชอาหารตลอดปี ปีหนึ่งจะมีเพลี้ยอ่อนได้ถึง 30-40 รุ่น

ลักษณะการทำลาย

มักเกาะอยู่เป็นกลุ่ม ดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนฝัก กาบฝัก มักพบมากบนช่อดอก บริเวณที่เพลี้ยอ่อนดูดกินจะแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนมากและมีการระบาดเกือบทั้งแปลง จะทำให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อย นอกจากนี้น้ำหวานที่เกิดจากเพลี้ยอ่อนยังทำให้ดึงดูดแมลงศัตรูชนิดอื่น เช่น หนอนเจาะฝัก หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด มาวางไข่บนไหมข้าวโพดอีกด้วย

ใบที่ถูกเพลี้ยอ่อนดูดกินจะเหลือง

ใบที่ถูกเพลี้ยอ่อนดูดกินจะเหลือง

ใบที่ถูกเพลี้ยอ่อนดูดกินจะเหลือง

คราบสีขาวที่เพลี้ยอ่อนลอกคราบบนใบ

ด้วงเต่าลายหยัก แมลงศัตรูธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด

ปกติเพลี้ยอ่อนไม่ทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมากนัก ในไร่ข้าวโพดยังมีแมลงศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่นด้วงเต่า แมลงหางหนีบ ช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ

ถ้าการระบาดของเพลี้ยอ่อนเกิดขึ้นในระยะที่ข้าวโพดกำลังจะมีเกสรตัวผู้ และมีภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะนี้ ก็อาจจำเป็นต้องพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

การพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง ควรพ่นเฉพาะจุดที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องพ่นคลุมทั้งพื้นที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ เลือกพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้

  • มาลาไทออน 57% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • คาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ไบเฟนทริน 10% อีซี  อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร