การทำลายของหนอนห่อใบข้าวในข้าวโพด

หนอนห่อใบข้าว หรือ หนอนม้วนใบข้าว หรือ หนอนกินใบข้าว (Rice leaf -folder ; Cnaphalocrocis medinalis (Guenee)) ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนปีกสีน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ ตัวเมียวางไข่บนใบข้าวโพด ขนานตามแนวเส้นใบและสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไข่มีสีขาวขุ่นค่อนข้างแบนเป็นกลุ่ม บางครั้งก็วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัยที่กินใบได้มากที่สุด ระยะหนอน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบที่ห่อตัว ระยะดักแด้ 4-8 วัน

พืชอาหาร
ข้าว ข้าวป่า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าปล้องหิน หญ้าตีนติด

ลักษณะการทำลาย

พบการทำลายของหนอนห่อใบข้าวในข้าวโพดแต่ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เริ่มพบในระยะข้าวโพดอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์  หนอนมักจะทำลายที่บริเวณปลายใบ โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เนื่องจากใบข้าวโพดมีขนาดใหญ่กว่าใบข้าว หนอนที่ทำลายตรงส่วนปลายใบซึ่งเป็นส่วนที่แคบ ทำให้ง่ายในการดึงขอบใบมาห่อตัว เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวโพดส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นทางยาวสีขาว ขนานไปกับใบ หรือแทะผิวใบตรงส่วนปลายใบทำให้ปลายใบเป็นสีขาว หนอนจะใช้ใยดึงขอบใบทั้งสองด้านเข้าหากันเพี่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้และกัดกินอยู่ภายในใบที่ห่อ

การป้องกันกำจัด

ในข้าวโพดยังไม่พบการทำลายที่รุนแรง จึงไม่จำเป็นต้องป้องกันกำจัด กรณีระบาดรุนแรงป้องกันกำจัดวิธีเดียวกันกับข้าว โดยใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม เช่น ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5% เอสซี) อัตรา 30-50 มิลลิเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร สาร เบนซัลแทป (แบนคอล 50% ดับบลิวพี) อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80-110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เฉพาะพื้นที่มีใบถูกทำลายจนเห็นรอยขาว