ศัตรูธรรมชาติในไร่ข้าวโพด

ในแปลงข้าวโพดโดยเฉพาะแปลงที่ไม่มีการพ่นสารฆ่าแมลง รวมถึงแปลงที่ใช้สารฆ่าแมลงอย่างถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ทำให้ปริมาณศัตรูธรรมชาติเพิ่มขึ้นและมีความหลากหลาย จนเกิดความสมดุล สามารถกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด รวมทั้งแมลงศัตรูอื่นๆ ของข้าวโพด เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะฝัก และเพลี้ยอ่อนข้าวโพด ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตได้ ดังนั้น การที่เกษตรกรรู้จักแมลงศัตรูธรรมชาติ  การสังเกตลักษณะของหนอนศัตรูพืชที่ถูกศัตรูธรรมชาติทำลาย ความถี่ที่พบศัตรูธรรมชาติในแปลง การกระจายของศัตรูธรรมชาติในพื้นที่ ระดับความเสียหายทางใบของข้าวโพดที่ถูกศัตรูพืชทำลาย ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการตัดสินใจป้องกันกำจัดโดยการใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม หรืออาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด ก็ไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย

#แตนเบียนคีโลนัส Chelonus sp. (Hymenoptera: Braconidae) เป็นแตนเบียนไข่-หนอน (Egg-Larval Parasitoid) พบทั่วไปในอเมริกา อเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ อียิปต์ รวมทั้งในประเทศไทย

แตนเบียนคีโลนัสเพศเมีย ใช้อวัยวะวางไข่คล้ายเข็มแทงเข้าไปในไข่่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เพื่อวางไข่ โดยจะวนเวียนแทงลงไปในไข่ทีละฟอง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสามารถฟักออกมาจากไข่ฟองที่โดนเบียน แต่จะมีขนาดเล็กกว่าปกติ มีอายุใกล้เคียงกับหนอนที่ไม่โดนเบียน แต่กินได้น้อยกว่า แปลว่าทำลายใบข้าวโพดได้น้อยลง

แตนเบียนคีโลนัส

#มวนพิฆาต Stink bug : Eocanthecona furcellata (Wolff) เป็นแมลงห้ำ ทั้งในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย สามารถทำลายศัตรูพืชในระยะหนอนได้หลายชนิด

ตัวอ่อนมวนพิฆาต
ตัวอ่อนมวนพิฆาต ทำลายตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
ตัวอ่อนมวนพิฆาตทำลายหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
ตัวเต็มวัยมวนพิฆาต
ตัวเต็มวัยมวนพิฆาตดูดกินหนอน

#แมลงหางหนีบ อยู่ตามซอกใบ กาบใบข้าวโพด แมลงหางหนีบทำลายศัตรูพืชโดยกินไข่และหนอนผีเสื้อหลายชนิด

แมลงหางหนีบอยู่ตามซอกใบข้าวโพด หรืออยู่ในดิน

ชมวิดิทัศน์ แมลงหางหนีบของกรมวิชาการเกษตร https://youtu.be/yhXP0CKeEg8

การทำลายเหยื่อของแมลงหางหนีบ

#แมลงวันก้นขน วงศ์แทคินิดี้ (Tachinidae) มีอยู่หลายชนิด เป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ ที่ช่วยกำจัดหนอนผีเสื้อ

แมลงวันก้นขนจะวางไข่แปะติดใว้บนส่วนหัว และบนตัวหนอนหลายฟอง เมื่อหนอนแมลงวันฟัก จะไซเข้าในตัวหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เจริญอยู่ภายใน ทำให้หนอนตายอย่างช้าๆ จากนั้นหนอนแมลงวันจะเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ด้านนอกตัวหนอนที่ตาย หรือเจาะออกมาระยะดักแด้

# มวนมายริดี้ (วงศ์ miridae) พบได้ทั่วไป มีจำนวนมาก เป็นแมลงที่กินไม่เลือก ใช้ปากคล้ายเข็มดูดกินหนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟัก ดูดกินไข่ นอกจากนี้ยังดูดกินซากหนอนที่ตายแล้ว ในต่างประเทศ มวนในวงศ์มายริดี้บางชนิดใช้เป็นตัวหำ้ทำลายแมลงหวี่ขาว และในประเทศไทยพบมวนเขียวดูดไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

มวนมายริดี้ (วงศ์ Miridae) ดูดกินของเหลวจากตัวหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่เพิ่งฟัก
มวนมายริดี้ (วงศ์ Miridae) ดูดกินไข่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

# ด้วงเต่าสีส้ม (Micraspis discolor Fabricius) เป็นแมลงตัวห้ำ กินเพลี้ยอ่อนและไข่

# ด้วงเต่าลายหยัก (Menochilus sexmaculatus Fabricius) ปีกสีส้ม มีจุดหรือแถบสีดำ 6 จุด เป็นแมลงตัวห้ำกินเพลี้ยอ่อน

# ตั๊กแตนหนวดยาว  จับกินแมลงหรือหนอนเป็นอาหาร

# ด้วงก้นกระดก หรือด้วงปีกสั้น หรือ ด้วงก้นงอน (Rove beetle) เป็นแมลงขนาดเล็ก เคลื่อนไหวรวดเร็ว พบอยู่ตามต้นพืชทั่วไป ทำลายศัตรูพืชโดยกินไข่หนอนผีเสื้อ

# แตนเบียนไตรโคแกรมม่า (Trichogramma) เป็นแตนเบียนไข่ (Egg Parasitoid)

แตนเบียนไตรโคแกรมม่า ใช้อวัยวะวางไข่ที่อยู่ส่วนปลายของลำตัว แทงเข้าไปวางไข่ในไข่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

ไข่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่ถูกแตนเบียนไตรโคแกรมม่าทำลาย  จะมีสีดำ ไม่ฟักเป็นหนอน แต่จะมีตัวเต็มวัยของแตนเบียน เจาะออกมาจากไข่

# แตนเบียนเทเลโนมัส (Telenomus) เป็นแตนเบียนไข่ (Egg Parasitoid)

ไข่ของผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่ถูกแตนเบียนเทเลโนมัสทำลาย  จะมีสีดำ ไม่ฟักเป็นหนอน แต่จะมีตัวเต็มวัยของแตนเบียน เจาะออกมาจากไข่

# แตนเบียน Iphiaulax sp. (Hymenoptera: Braconidae)  เป็นแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอน (Egg, Larval Parasitoid)  เป็นศัตรูธรรมชาติของหนอนกออ้อย

# เชื้อราขาวบิววาเรีย (Beauveria bassiana) เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลง มีการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงการค้าสำหรับนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนผีเสื้อ

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดถูกทำลายโดยเชื้อราขาวบิววาเรีย ในสภาพธรรมชาติ

# ศัตรูธรรมชาติอื่นๆ

แมงมุม